สัปดาห์ก่อนกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กลุ่มสังคมออนไลน์ของชาวเกย์แทบลุกเป็นไฟ เมื่อข่าวออกมาว่า ‘ประกันสังคมให้สิทธิผ่าตัดแปลงเพศฟรี’ ประเด็นนี้ทำให้เกิดการจิกกัดกันอย่างดุเดือดระหว่างชาว LGBTQ ก่อนที่ความโต้แย้งจะจบลงเมื่อรู้ข้อเท็จจริงว่า สิทธินี้เป็นของ ‘เพศกำกวม’
จริงๆแล้วสื่อใช้คำว่าผ่าตัดแปลงเพศก็ไม่ถูกนะ เพราะในเคสนี้มันไม่ใช่การผ่าตัดสำหรับการข้ามเพศ แต่มันคือการผ่าตัดเปลี่ยนแปลงเพื่อรักษา LGBTQ (กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ) คืออะไร…คนรุ่นใหม่พูดถึงกันมากมายในสังคมปัจจุบัน เขาเข้าใจกันจริงๆหรือกระแดะตามกระแสกันแน่…ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจคำว่า ‘เพศสภาวะโดยกำเนิด’ กันก่อน อันนี้เป็นความรู้ขั้นพื้นฐานสุดๆ มันคือเพศสภาวะโดยกำเนิดคือเพศทางชีววิทยา ได้แก่ ชาย (Male) หญิง (Female) และเพศกำกวม (Intersex) คุณผู้อ่านมีเพศสภาวะโดยกำเนิดแบบไหนกัน ทุกคนย่อมรู้ตัวเองดี
เพศกำกวม (Intersex) คืออะไร พิจารณาง่ายๆจากคำ คำนี้รากศัพท์คือ sex ส่วน inter นั้นคือ prefix ซึ่งเป็นคำที่ใช้เติมหน้าคำนามอื่นแล้วให้ความหมายเปลี่ยนไป(inter หมายถึง between, ระหว่าง) ตัวอย่างเช่นinternational ระหว่างประเทศ/ interpol ตำรวจสากล/ intermarry การแต่งงานระหว่างคนต่างเชื้อชาติศาสนา เป็นต้น
Intersex ในที่นี้คือคนที่เกิดมาแล้วมีเพศสภาวะโดยกำเนิดกำกวม คือไม่ใช่แค่อวัยวะเพศไม่ชัดเจนว่าหญิงหรือชายเท่านั้น หรือมีลักษณะเป็นสองอวัยวะในอันเดียวกัน หรือก้ำกึ่ง

แต่คนประเภทนี้จะมีโครโมโซมเพศแตกต่างจากชายหญิงทั่วไปด้วย อย่างเช่น นักวิ่งชื่อดังคนหนึ่งชาวแอฟริกาใต้ Caster Semenya
เธอมีอวัยวะเพศแบบหญิง แต่มีโครโมโซมเพศเป็น xy มีระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนมากกว่าผู้หญิงถึง3 เท่า เธอไม่มีรังไข่ ไม่มีมดลูก แต่มีอัณฑะอยู่ภายในตัว ซึ่งไม่ได้อยู่นอกตัวแบบผู้ชายทั่วไป เคสแบบนี้จะกำหนดเพศอย่างไรในทางกฎหมาย
นี่คือสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์คิดและพยายามบอกชาวโลก ว่าในโลกนี้เราจะใช้หลักการแบบสองเพศมากำหนดเพศสภาวะคนไม่ได้ และนี่แค่เพศสภาวะนะ ยังไม่รวมเพศทางจิตและพฤติกรรมซึ่งมีความจำเป็นต้องนำมาคิดในการระบุเพศอีกด้วย Intersex นั้น ในทางวิทยาศาสตร์บางครั้งก็เรียก Hermaphrodite หมายถึงสัตว์ที่มีอวัยวะเพศทั้งสองเพศในตัวเดียวกัน หรือก้ำกึ่งบอกไม่ได้ชัดเจน เช่น ไส้เดือน หอยทาก และปลาบางชนิด เป็นต้น เขาเรียกว่ากะเทย ซึ่งพบเป็นจำนวนมากในสัตว์และพืชบนโลกนี้
สัตว์กะเทยนี้สามารถแบ่งออกได้อีก โดยในมนุษย์เราแบ่งเป็นกะเทยแท้และกะเทยเทียม กะเทยแท้คือมีอวัยวะเพศทั้งหญิงและชายอยู่ในคนเดียวกัน มีทั้งอัณฑะและรังไข่ บางคนอาจจะมีร่างกายภายนอกซีกหนึ่งเป็นหญิงและอีกซีกเป็นชาย ส่วนกะเทยเทียมคือมีอวัยวะเพศแบบครึ่งหญิงครึ่งชาย หรือบางสิ่งเป็นหญิงบางสิ่งเป็นชาย อย่าง Caster นั้นถือเป็นกะเทยเทียม
กะเทยแท้ส่วนใหญ่จะเป็นหมัน มีลักษณะไปทางเพศใดเพศหนึ่งชัดเจน มีความผิดปกติมาจากโครโมโซมบางส่วน และพบได้น้อยมาก ส่วนกะเทยเทียมนั้นโดยมากเกิดในเพศชายมีหลายชนิด ต้องมีโครโมโซมวายและมีอัณฑะ นักวิทยาศาสตร์แบ่งกะเทยเทียมออกได้อีก 7 ประเภท อย่าง Caster นั้นเกิดจากเนื้อเยื่อดื้อต่อฮอร์โมนเพศชาย ทำให้กลายเป็นอวัยวะหญิงไป กะเทยเทียมกลุ่มนี้จึงเป็น ‘หญิงมีอัณฑะ’
Caster Semenya โดนเพื่อนนักวิ่งฟ้องว่ามันไม่ยุติธรรมสำหรับการแข่งขันกีฬาประเภทหญิง เพราะเขามีโครโมโซม xy แต่เขาหรือเธอก็แย้งกลับว่า ในการแข่งขันใช้เกณฑ์อะไรมากำหนดว่าเป็นเพศหญิงหรือชายล่ะ ถ้าคิดเพศสภาวะโดยกำเนิดตามหลักการ Binary gender (หลักสองเพศ) เธอก็เป็นหญิงนะ เพราะสภาพร่างกายเธอเป็นหญิง เธอมีอวัยวะเพศหญิง
แต่ในชีวิตจริง ฟังดีๆนะคะ Caster Semenya แต่งงานกับผู้หญิง เธอมีความรู้สึกทางเพศแบบผู้ชายที่ชอบผู้หญิง อันนี้แพทย์ได้ทำการตรวจฮอร์โมนและสำรวจทัศนคติทางเพศของเธอแล้วสรุปว่า เธอเป็นเขา (She is he) มันจึงเกิดคำถามต่อไปว่าคนประเภทนี้ควรจัดอยู่ในกลุ่มไหนและเขามีสิทธิ์ผ่าตัดแก้ไขให้เพศสภาพสอดคล้องกับร่างกายและจิตใจได้โดยที่มีกฎหมายรองรับได้อย่างไร
กลับมามองโลกปัจจุบัน คนส่วนใหญ่คงเคยได้ยิน LGBTQ มาดูความหมายคร่าวๆกัน บอกก่อนว่า การกำหนดนี้อิงจากเพศสภาวะโดยกำเนิด L = Lesbian หญิงรักหญิง / G = Gay ชายรักชาย/ B = Bisexuality รักได้ทั้งชายและหญิง / T = Transgender กลุ่มคนข้ามเพศ/ Q = Queer กลุ่มคนที่มีพฤติกรรมและทัศนคติทางเพศที่ไม่สามารถกำหนดกฎเกณฑ์ใดๆได้ ไม่ใช่อย่างใดอย่างหนึ่งในกลุ่มที่กล่าวมาทั้งหมด ส่วน I = กลุ่มคนเพศกำกวม นั้นถ้าพิจารณากันจริงๆแล้วไม่สามารถรวมอยู่ในกลุ่ม LGBTQ ได้ เพราะกลุ่มคนเพศกำกวมเกิดจากลักษณะทางวิทยาศาสตร์ แต่ LGBTQ มาจากฮอร์โมน พฤติกรรมและทัศนคติทางเพศหลายอย่างประกอบกัน
ย้อนกลับไปที่ข่าวว่า ผ่าตัดแปลงเพศฟรีด้วยสิทธิประกันสังคม การพาดหัวข่าวแบบนี้ผิด เพราะคำว่า ‘ผ่าตัดแปลงเพศ’ ต้องใช้กับคนที่มีเพศสภาพอย่างใดอย่างหนึ่งชัดเจนอยู่แล้ว และมีความต้องการเปลี่ยนเครื่องเพศตัวเองไปตามทัศนคติทางเพศเป็นหลักข้ามไปอีกเพศหนึ่ง แต่สำหรับกลุ่ม Intersex การผ่าตัดนั้นไม่ใช่การแปลงเพศ แต่มันคือการผ่าตัดแก้ไข แก้ปัญหาทางชีววิทยา เพื่อช่วยให้บุคคลสามารถดำรงชีวิตต่อไปได้อย่างสมบูรณ์ปกติที่สุด จุดนี้เองที่ทำให้ผู้เสพข่าวสารสับสนและถกเถียงกันวุ่นวายในวันแรกๆที่มีข่าวออกมา และแท้ที่จริงแล้วประกันสังคมจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายสำหรับการรักษาชาวเพศกำกวมเท่านั้น เพศอื่นๆไม่ได้สิทธิ์นี้
ในหลายๆประเทศทุกวันนี้มีช่องให้ระบุเพศตัวเองเวลาเดินเรื่องเอกสารต่างๆ มี Male (ชาย) / Female (หญิง) / และ Non binary gender (หมายถึงการระบุว่าเพศตัวเองวัดไม่ได้จากสองระบบแรก) ไม่ได้หมายถึงเพศตามทัศนคติของตัวเอง แล้วใครบ้างที่ควรระบุตัวเองลงในช่องนี้ คำตอบคือคนประเภท Intersexและ Transgender เท่านั้น

คำถามต่อมาคือ Intersex ที่ผ่านการผ่าตัดแล้วเรียกว่า Transgender ได้มั้ย ตรงนี้ไม่แน่ใจในคำนิยามทางการแพทย์นะ ยังค้นไม่เจอ ถ้าใครทราบโปรดแนะนำด้วย แต่ส่วนตัวคิดว่ามันไม่ใช่การแปลงเพศข้ามเพศ แต่มันคือการผ่าตัดเลือกเพศที่เหมาะสมให้เขาหรือเธอ และข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งที่พบคือ Intersexมักจะพบในลักษณะมีโครโมโซมเพศเป็น xy แต่ร่างกายภายนอกกำกวมจริงๆ แยกไม่ออกเป็นหญิงหรือชาย ในเมืองไทยก็เคยมีนะ ถ้าจำกันได้ เป็นเด็กนักเรียนต่างจังหวัดคนหนึ่ง
ก่อนจบ ขอปิดท้ายด้วยข้อมูลในกูเกิ้ล ที่ออสเตรเลีย เขารวบรวมบันทึกประวัติคนที่เดินทางเข้าประเทศผ่านสนามบินของเขาในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา (โดยประมาณ)ในช่องระบุเพศ ผลออกมาดังนี้ Male 23% Female 52% Atypical Sex or other options 19% (เพศสภาพผิดปกติหรืออื่นๆ) Unsure 6% (ไม่แน่ใจในเพศสภาพของตัวเอง)จะเห็นได้ว่าเรื่องนี้มีความละเอียดซับซ้อนยิ่งนัก แม้แต่ชาว LGBTQ เองหลายคนก็ยังไม่ทราบข้อเท็จจริงเลย
…………….
บทความ: เทพประทาน เหมเมือง
Photos Credit:
- https://www.quora.com/Why-do-clinicians-define-Intersex-as-a-disorder-How-do-they-diagnose-Intersex
- https://www.ruleoflaw.org.au/norrie-high-court/